หน้าหลัก | สุขภาพดี | สุภาพสตรี | การแปลผลเลือด | โรคต่างๆ | วัคซีน
การปฐมพยาบาลมักจะกระทำโดยคนอื่น เช่น เพื่อน หรือญาติพี่น้องซึ่งถูกบ้างผิดบ้างตามการบอกเล่าต่อกันมาหลักการดุแลเบื้องต้นมีดังนี้
การรักษาแผลที่ถูกงูกัดให้ปฏิบัติเหมือนกับการรักษาแผลติดเชื้อทั่วไป เนื่องจากอาจมีเชื้อปนเปื้อนเข้าสู่บาดแผลได้จากผู้ป่วยนำเอาสมุนไพรใส่แผลหรือได้รับเชื้อจากปากงูก็ได้ จากการศึกษาโดยการเพาะเชื้อจากปากงูและน้ำพิษงูกะปะที่กัดผู้ป่วย พบว่ามีทั้งเชื้อ gram negative rods (เช่น Enterobacter, Serratia, Pseudomonas, Aeromonas) และ Gram positive rods (เช่น Clostridium) และ Gram positive cocci (เช่น Staphylococcus epidermidis) ดังนั้นภายหลังทำความสะอาดแผล อาจต้องพิจารณาให้ยาฆ่าเชื้อเช่น benzylpenicillin ร่วมกับ gentamicin โดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีแผลเน่าร่วมกับให้ tetanus toxoid ด้วย
การป้องกันการถูกงูกัด
การป้องกันไม่ให้ถูกงูกัดทำได้ แต่จะได้ผลมากน้อยแค่ไหนขึ้นอยู่กับเวลา สถานที่ และโอกาส โดยปกติแล้วนิสัยของงูจะไม่เลื้อยมากัดหรือทำร้ายมนุษย์โดยตรง พิษของงูมีไว้เพื่อจับสัตว์เป็นอาหาร นิสัยของงูจะกลัวคนเช่นเดียวกันกับคนก็กลัวงู ส่วนใหญ่คนถูกงูกัดจะเป็นไปโดยบังเอิญ เช่น เหยียบงู หรือเข้าใกล้งู โดยธรรมชาติงูกัดคนเป็นการป้องกันตัวเอง (defensive mechanism) ดังนั้นก่อนจะเดินป่าควรระวังและป้องกัน โดยใส่กางเกงขายาว เสื้อแขนยาว สวมรองเท้าหุ้มส้น ยิ่งเป็นรองเท้าบู๊ทยิ่งดี มือถือไม้แกว่งไปมาระหว่างเดินป่าเพื่อให้เกิดเสียงดังงูจะได้หนีไปก่อน ไม่ควรเดินป่าในเวลากลางคืน มีไฟฉายติดมือไปด้วยจะทำให้การเดินป่าปลอดภัยขึ้น แนะนำให้ชาวสวนยางพาราภาคใต้ หรือชาวสวนผลไม้ภาคตะวันออก ใส่รองเท้าบู๊ทเวลาทำงานจะลดอัตราเสี่ยงต่อการถูกงูกะปะกัด แต่ชาวนาซึ่งต้องทำงานในท้องนาที่เป็นน้ำและโคลน การใส่รองเท้าอาจทำงานไม่สะดวก ควรลดความเสี่ยงโดยวิธีอื่นเช่น พยายามเดินในที่ไม่รก และเวลา เสร็จงานแล้วเดินทางกลับบ้านควรใส่รองเท้าจะช่วยได้บ้าง
ผู้ป่วยที่ถูกงูกัดใช่ว่าจะเป็นงูพิษกัดทุกราย ถ้าหากผู้ป่วยนำซากงูที่กัดมาด้วย และแพทย์หรือเจ้าหน้าที่ผู้รักษารู้ว่าเป็นงูพิษชนิดอะไรกัด จะทำให้การรักษาง่ายขึ้น หลักในการแยกชนิดของงูพิษ (ตารางที่ 1) ถ้าแน่ใจว่าเป็นงูไม่มีพิษ ก็อธิบายให้ผู้ป่วยเข้าใจ ทำความสะอาดแผล พิจารณาให้ยาแก้ปวด ยาฆ่าเชื้อ และหรือฉีดวัคซีนป้องกันโรคบาดทะยัก แต่ถ้าไม่แน่ใจว่าเป็นงูมีพิษหรือผู้ป่วยไม่ได้นำซากงูมาหรือไม่เห็นตัวงู ต้องปฏิบัติเหมือนกับผู้ป่วยถูกงูมีพิษกัดทุกราย โดยรับผู้ป่วยไว้ในโรงพยาบาลหรือสถานพยาบาล และให้การเฝ้าระวังดูแลผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด เพื่อดูหลักฐานอื่นว่าผู้ป่วยถูกงูพิษกัดจริง ถ้าผู้ป่วยไม่นำซากงูมา ต้องอาศัยหลักฐานทางระบาดวิทยา (clinical epidemiology) และอาการทางคลินิก (clinical evidence) มาประกอบว่าน่าจะเป็นงูชนิดอะไรกัด จากข้อมูลทั้งด้านประวัติ อาชีพ สถานที่ถูกกัด อาการและอาการแสดงที่เกิดขึ้นภายหลังถูกงูกัดมาประกอบ เมื่อนำหลักฐานต่างๆมาวิเคราะห์ร่วมกันทั้งหมด แล้วอาจคาดคะเนว่าน่าจะเป็นงูพิษชนิดใดกัดได้ เช่น ภายหลังถูกงูกัดแล้ว ผู้ป่วยมีอาการและอาการแสดงของการได้รับพิษงูเข้าสู่ร่างกายเช่น มีหนังตาตก หายใจไม่สะดวก มีการเคลื่อนไหวแขนหรือขาได้น้อย และแผลที่ถูกกัดไม่บวมและไม่มีอาการเจ็บปวด งูที่กัดน่าจะเป็นงูสามเหลี่ยมหรืองูทับสมิงคลา เนื่องจากพิษของงูทั้งสองชนิดนี้ไม่มีฤทธิ์ทำลายเนื้อเยื่อ (cytotoxic effect) การที่จะแยกว่าน่าจะเป็นงูทับสมิงคลา ก็อาศัยหลักฐานที่งูทับสมิงคลาส่วนใหญ่จะกัดผู้ป่วยในบ้านในเวลากลางคืน เนื่องจากอาหารของงูทับสมิงคลาคือหนู
ถ้าถูกงูกัดแล้วแผลที่ถูกกัดบวมและผลการตรวจเลือดปกติจับเป็นลิ่มใน 20 นาที งูที่กัดน่าจะเป็นงูเห่าหรืองูจงอาง แยกงูจงอางออกได้เนื่องจากจะพบงูจงอางก็แต่เฉพาะในป่าดงดิบหรือป่าลึก เนื่องจากอาหารของงูจงอางคืองูด้วยกันเอง
ถ้าถูกงูกัดแล้วแผลที่ถูกกัดบวม และผลการตรวจเลือดพบว่าเลือดผิดปกติคือ ไม่จับเป็นลิ่มในเวลา 20 นาที งูที่กัดน่าจะเป็นงูกะปะ งูแมวเซา หรืองูเขียวหางไหม้ (ดูตามแผนภูมิงูกัด) ซึ่งต้องแยกชนิดของงูโดยประวัติการถูกกัดและตำแหน่งที่ถูกกัด เช่น ชาวนาอยู่ภาคกลางถูกงูกัดที่เท้าขณะเกี่ยวข้าว ตรวจพบสิ่งผิดปกติในปัสสาวะ หรือการทำงานของไตเสื่อมก็น่าจะเป็นงูแมวเซา ถ้าเป็นชาวสวนยางภาคใต้ถูกงูกัดแต่เช้ามืดขณะกรีดยาง ก็น่าจะเป็นงูกะปะ ถ้าถูกกัดที่มือหรือส่วนบนของร่างกายขณะที่ยืนหรือตัดต้นไม้ ก็น่าจะเป็นงูเขียวหางไหม้ เป็นต้น
หน้าหลัก ชนิดของู พิษของงู การดูแลเบื้องต้น การประเมินความรุนแรง การรักษา การให้เซรุ่ม งูเห่า งูจงอาง งูสามเหลี่ยม งูกะปะ งูแมวเซา งูเขียวหางไหม้ รายละเอียดงูพิษกัด