ชื่อสามัญ Gabapentin
รูปแบบยา แคปซูล
ยานี้ใช้สำหรับ
- ยานี้ใช้เพื่อช่วยควบคุมอาการชักชนิดที่มีผลต่อส่วนใดส่วนหนึ่งของสมอง (Partial Seizures) หรือช่วยบรรเทาอาการปวดในผู้ที่มีอาการปวดประสาทซึ่งเกิดหลังมีเหตุมาจากงูสวัด (postherpetic neuralgia)
วิธีใช้ยา
- ยานี้อยู่ในรูปแบบยาแคปซูล ใช้สำหรับรับประทาน โดยทั่วไปรับประทานวันละ 3 ครั้ง โดยแต่ละมื้อไม่ควรห่างกันเกิน 12 ชั่วโมง หรือให้ใช้ยานี้ตามวิธีใช้ที่ระบุบนฉลากยาอย่างเคร่งครัด โดยห้ามใช้ยาในขนาดที่มากหรือน้อยกว่าที่ระบุ และหากมีข้อสงสัยให้สอบถามแพทย์หรือเภสัชกร
- รับประทานยานี้ได้ทั้งก่อนหรือหลังอาหาร แต่ควรเหมือนกันทุกครั้งที่รับประทาน และควรรับประทานยาให้ตรงเวลาทุกครั้ง
- ห้ามหยุดใช้ยาด้วยตัวเองโดยไม่ปรึกษาแพทย์ผู้รักษาก่อน
- หากมีความจำเป็นต้องรับประทานยาลดกรด ให้รับประทานยาลดกรดก่อนยานี้อย่างน้อย 2 ชั่วโมง
- การรับประทานยานี้อาจทำให้เกิดอาการเวียนศีรษะ มึนงงได้เมื่อลุกยืนขึ้นอย่างรวดเร็ว ดังนั้นจึงควรเปลี่ยนท่าทางอย่างช้าๆ
- การรับประทานยานี้อาจทำให้มีอาการง่วงซึม
- หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ในระหว่างที่รับประทานยานี้อยู่
สิ่งที่ควรแจ้งแพทย์หรือเภสัชกรทราบ
- การแพ้ยา gabapentin หรือแพ้ยาอื่นๆ
- ยาอื่นๆ ทั้งยาที่แพทย์สั่งจ่ายและยาที่ใช้เอง วิตามิน อาหารเสริม และยาสมุนไพรที่ท่านใช้อยู่ในขณะนี้หรือกำลังจะใช้
- การตั้งครรภ์ การวางแผนในการตั้งครรภ์ หรือการให้นมบุตร
- หากต้องเข้ารับการผ่าตัด ต้องแจ้งให้แพทย์ทราบก่อนทำการรักษา
- การมีความผิดปกติหรือมีประวัติความผิดปกติของการทำงานของตับหรือไต
ทำอย่างไรหากลืมรับประทานยาหรือใช้ยา
โดยทั่วไปถ้าลืมรับประทานยา ให้รับประทานยาทันทีที่นึกได้ แต่ถ้าเป็นเวลาที่ใกล้กับมื้อต่อไป ให้ข้ามไปรับประทานยามื้อต่อไปเลยโดยไม่ต้องเพิ่มขนาดยาเป็นสองเท่า
อาการอันไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา
1) อาการอันไม่พึงประสงค์ที่ต้องแจ้งแพทย์หรือเภสัชกรทันที
มีดังนี้ ชัก หายใจลำบาก หรือกลืนอาหารลำบาก เสียงแหบ หน้า ลำคอ ลิ้น ริมฝีปาก ตา มือหรือเท้าบวม ผื่นคัน อาการที่พบได้ในเด็กที่รับประทานยานี้ ได้แก่ อาการดังต่อไปนี้ มีไข้ สมาธิสั้น ไม่อยู่นิ่ง อารมณ์เปลี่ยนแปลง ความประพฤติกร้าวร้าว
2) อาการอันไม่พึงประสงค์อื่นที่อาจเกิดระหว่างใช้ยา หากเป็นต่อเนื่อง หรือ รบกวนชีวิตประจำวัน ให้ แจ้งแพทย์หรือเภสัชกรทราบ
มีดังนี้ ตาบวม แดง คันตา สมรรถภาพทางเพศลดลง เจ็บเหงือก พูดจาเลอะเลือน ง่วงซึม เหนื่อย อ่อนเพลียผิดปกติ วิงเวียน ปวดศีรษะ อาการสั่น มองภาพไม่ชัด หรือมองเห็นภาพซ้อน เดินเซ กระวนกระวาย กระสับกระส่าย หลงลืม มีความคิดที่แปลกหรือผิดปกติไปจากเดิม ควบคุมการกรอกของลูกตาไม่ได้ คลื่นไส้ อาเจียน แสบท้องกลางอก อาหารไม่ย่อย หรือมีลมในกระเพาะอาหาร ท้องเสีย หรือท้องผูก น้ำหนักเพิ่ม ปวดหลัง ปวดข้อ น้ำมูกไหล จาม เจ็บคอ เจ็บหู
การเก็บรักษายา
- เก็บยานี้ในภาชนะบรรจุเดิมที่บรรจุมา ปิดภาชนะให้สนิท และเก็บให้พ้นมือเด็ก
- เก็บยานี้ที่อุณหภูมิห้องโดยไม่ให้อยู่ในที่ร้อนมากกว่า 30 องศาเซลเซียส เช่น บริเวณที่ถูกแสงแดดโดยตรง และไม่เก็บยาในบริเวณที่เปียกหรือชื้น