สารพิษในบุหรี่มีมากกว่า 4000 ชนิด
บุหรี่มีสารประกอบต่างๆอยู่ประมาณ 4000 ชนิด มีสารก่อมะเร็งไม่น้อยกว่า 42 ชนิด สารบางชนิดที่เป็นอันตรายที่สำคัญคือ
- นิโคติน เป็นสารที่ทำให้คนติดบุหรี่ ออกฤทธิ์โดยตรงต่อสมองทั้งเป็นตัวกระตุ้นและกดประสาทส่วนกลาง ถ้าได้รับสารนี้ขนาดน้อยๆ เช่นการสูบบุหรี่ 1-2 มวนแรก อาจจะกระตุ้นให้ร่างกายกระปรี้กระเปร่า แต่ถ้าสูบมากหลายมวนก็จะกดประสาทส่วนกลาง ทำให้ความรู้สึกต่างๆช้าลง ร้อยละ 95ของนิโคตินจะไปจับอยู่ที่ปอด บางส่วนจับอยู่ที่เยื่อหุ้มริมฝีปาก และบางส่วนถูกดูดซึมเข้ากระแสเลือดมีผลโดยตรงต่อหมวกไตก่อให้เกิดการหลั่งฮอร์โมนอิฟิเนฟริน [epinephrine] ทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้น หัวใจเต้นเร็วกว่าปกติและไม่เป็นจังหวะ หลอดเลือดที่แขนและขาหดตัว เพิ่มไขมันในเส้นเลือด บุหรี่หนึ่งมวนจะมีนิโคติน 0.8-1.8 มิลิกรัม(ค่ามาตรฐานกำหนดไว้ 1 มิลิกรัม) และสำหรับบุหรี่ก้นกรองก็ไม่ได้ทำให้ปริมาณนิโคตินลดลง
- ทาร์ หรือน้ำมันดินประกอบด้วยสารหลายชนิด เกาะกันเป็นสีน้ำตาล เป็นสารก่อให้เกิดมะเร็งได้ เช่นมะเร็งปอด กล่องเสียง หลอดลม หลอดอาหาร ไต กระเพาะปัสสาวะ และอื่นๆ ซึ่งร้อยละ 50 ของทาร์จะไปจับที่ปอด ทำให้เกิดระคายเคืองอันเป็นสาเหตุของการไอเรื้อรังมีเสมหะ ในคนที่สูบบุหรี่วันละซองจะรับน้ำมันทาร์เข้าไปประมาณ 30มิลิกรัม/มวน หรือ110กรัม/ปี บุหรี่ไทยมีสารทาร์อยู่ระหว่าง 12-24 มิลิกรัม/มวน
- คาร์บอนมอนอกไซด์ เป็นก๊าซที่ทำลายคุณสมบัติในการเป็นพาหะนำออกซิเจนของเม็ดเลือดแดง ทำให้เม็ดเลือดแดงไม่สามารถจับออกซิเจนได้เท่าเวลาปกติ เกิดการขาดออกซิเจน ทำให้มึนงง ตัดสินใจช้า เหนื่อยง่าย ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคหัวใจ
- ไฮโดรเจนไซยาไนด์ เป็นก๊าซพิษที่ทำลายเยื่อบุผิวหลอดลมส่วนต้น ทำให้มีอาการไอเรื้อรัง มีเสมหะเป็นประจำโดยเฉพาะในตอนเช้าจะมีมากขึ้น
- ไนโตรเจนไดออกไซด์ เป็นก๊าซพิษที่ทำลายเยื่อบุหลอดลมส่วนปลาย และถุงลมทำให้ผนังถุงลมบางโป่งพอง ถุงลมเล็กๆหลายอันแตกรวมกันรวมกันเป็นถุงลมใหญ่ ทำให้มีถุงลมจำนวนน้อย การยืดหยุ่นในการหายใจเข้าออกน้อยลง ทำให้เกิดโรคถุงลมโป่งพอง
- แอมโมเนีย มีฤทธิ์ระคายเคืองเนื้อเยื่อ ทำให้แสบตา แสบจมูก หลอดลมอักเสบ ไอและมีเสมหะมาก
- สารกัมมันตรังสี ควันบุหรี่มีสารโพโลเนียม 210ที่มีรังสีอัลฟาอยู่เป้นสาเหตุการเกิดโรคมะเร็งปอด และควันบุหรี่ยังเป็นพาหะร้ายแรงในการนำสารกัมมันตรังสี ทำให้ผู้ที่อยู่รอบข้างที่ไม่สูบุหรี่หายใจเอาอากาศที่มีสารพิษนี้เข้าไปด้วย
การสูบบุหรี่ | สารพิษในบุหรี่ | ผลเสียของการสูบบุหรี่ | บุหรี่มือสอง | นิโคติน | การหยุดสูบบุหรี่ | โรคที่เกิดจากการสูบบุหรี่ | ข้อดีของการเลิกบุหรี่
ทบทวนวันที่
โดย นายแพทย์ ประพันธ์ ปลื้มภาณุภัทร อายุรแพทย์,แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว