อาการแพ้ท้อง
อาการคลื่นไส้อาเจียนเป็นอาการแรกๆสำหรับการตั้งครรภ์ มักจะเกิดประมาณ 6 สัปดาห์ของการตั้งครรภ์ และอาการจะดีขึ้นเมื่อตั้งครรภ์ได้ 12 สัปดาห์ อาการคลื่นไส้อาเจียนไม่เป็นอันตรายนอกเสียจากจะมีอาการมากจนรับประทานอาหารไม่ได้ที่เรียกว่า hyperemesis gravidarum ซึ่งอาจจะมีอันตรายต่อคุณแม่และทารก
อาการแพ้ท้องประกอบไปด้วยอาการคลื่นไส้อาเจียน วิงเวียนศีรษะ แสบลิ้นปี่ อาการแพ้ท้องไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในตอนเช้าอย่างที่หลายคนเข้าใจ แต่จริงๆแล้วสามารถเกิดขึ้นได้ทั้งวัน อาการแพ้ท้องเกิดขึ้นกับหญิงตั้งครรภ์มากกว่า 90% และมักเป็นอาการอย่างแรกที่เกิดขึ้น อาการแพ้ท้องเกิดขึ้นจากการที่รกของเด็กมีการฝังตัวเข้าไปในเยื่อบุโพรงมดลูกและสร้างฮอร์โมน hCG ออกมาตั้งแต่หลังประจำเดือนขาดไป 2 – 3 วัน ซึ่งมีผลให้ร่างกายสร้างฮอร์โมนช่วยการตั้งครรภ์ชื่อเอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรนออกมา ซึ่งในช่วงแรกระดับของฮอร์โมนยังไม่สูงมากก็จะยังไม่มีอาการ แต่เมื่อระดับฮอร์โมนเพิ่มสูงขึ้นอาการแพ้ท้องก็จะเริ่มต้นขึ้น ส่วนใหญ่มักเริ่มมีอาการแพ้ท้องเมื่ออายุครรภ์ย่างเข้า 5 สัปดาห์ และระดับของฮอร์โมน hCG จะเพิ่มสูงขึ้นมากที่สุดเมื่ออายุครรภ์ 8 สัปดาห์ แต่จะลดระดับลงเมื่ออายุครรภ์ 12 สัปดาห์ ซึ่งอาการแพ้ท้องก็จะเริ่มทุเลาลง แต่ในคุณแม่บางรายก็มีอาการไปจนกระทั่งคลอดเลยทีเดียว อาการแพ้ท้องมักจะรุนแรงขึ้นโดยการกระตุ้นจากกลิ่นอาหาร กลิ่นฉุนและควันบุหรี่
จากการศึกษาวิจัยพบว่า หากคุณแม่ตั้งครรภ์เป็นครั้งแรกเมื่ออายุน้อยกว่า 20 ปี น้ำหนักมากกว่า 75 กิโลกรัม ไม่สูบบุหรี่ และการตั้งครรภ์แฝด อาการแพ้ท้องนั้นจะเพิ่มมากขึ้น อาการแพ้ท้องรุนแรงสามารถเกิดขึ้นได้แต่พบได้น้อย แต่ถ้าหากมีการแพ้ท้องอย่างรุนแรงก็จำเป็นที่จะต้องนอนพักในโรงพยาบาลให้น้ำเกลือ ตรวจหาระดับคีโตนในเลือด อย่างไรก็ตามเรามักพบว่าหญิงตั้งครรภ์ที่มีอาการแพ้ท้องมักสามารถดำเนินการตั้งครรภ์ไปจนสิ้นสุดได้
คำแนะนำในการปฏิบัติตัวของคุณแม่เมื่อมีอาการแพ้ท้อง
สิ่งที่ควรทำ
- เมื่อรู้สึกอยากรับประทานอาหารก็ให้รับประทานเลย เพราะการที่ท้องว่างจะทำให้คุณอาเจียนได้ง่ายกว่าที่มีอาหารอยู่ในท้อง
- มีขนมปังแครกเกอร์แบบเค็มๆไว้ข้างเตียงนอนเสมอ เมื่อคุณแม่ตื่นขึ้นมาให้รับประทานทันที แล้วนอนต่อสัก 15 นาทีก่อนที่จะลุกขึ้น อาการแพ้ท้องมักเกิดขึ้นในตอนเช้าหลังจากที่คุณแม่เพิ่งตื่นนอนและท้องว่าง
- หลีกเลี่ยงของทอดและผลไม้ดอง
- ในช่วงที่มีอาการแพ้ท้องคุณแม่บางคนไม่สามารถที่จะปรุงอาหาร แนะนำให้คนอื่นปรุงให้ และใช้พัดลมพัดกลิ่นอกนอกบ้าน
- เนื่องจากคุณแม่อาจรู้สึกคลื่นไส้อาเจียน และมีอาการแน่นท้อง ให้แบ่งรับประทานอาหารเป็นวันละ5-6 มื้อรับประทานครั้งละไม่มากแต่บ่อย
- ดื่มน้ำให้มากโดยให้ดื่มก่อนอาหารประมาณอย่างน้อยครึ่งชั่วโมง แต่อย่าดื่มน้ำร่วมกับอาหารหรือหลังอาหารทันที ให้ดื่มน้ำก่อนหรือหลังอาหารประมาณ 30 นาที
- หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีอุณหภูมิร้อนจัดหรือเย็นจัด หากเครื่องดื่มทำให้ท้องไส้ปั่นป่วน ลองรับประทานผักผลไม้ เช่น ผักกาดหอมเพราะจะมีน้ำเป็นส่วนประกอบอยู่มาก
- หลีกเลี่ยงสถานที่ร้อนจัดซึ่งจะทำให้เกิดอาการคลื่นไส้
- รับประทานน้ำผลไม้ใส่น้ำแข็ง เชอร์เบท ไอศกรีม โยเกิร์ต นมปั่น
- แม้ว่าคุณไม่รู้สึกหิว แต่ควรพยายามบังคับให้ตัวเองรับประทาน
- อาหารที่มีคาร์โบไฮเดรตสูงจะรับประทานได้ง่ายกว่า เช่น ขนมปังแห้งๆ กรอบๆ ธัญพืช หรือข้าวสวย
- การรับประทานอาหารที่มีโปรตีนสูงบางชนิดอาจทำให้คุณแม่ไม่สบายท้อง เช่น เนื้อวัว เนื้อหมู คุณแม่อาจลองรับประทานไข่ต้มสุกๆ แทนน่าจะดีขึ้น
- หลีกหนีให้ไกลจากกลิ่นที่ทำให้ท้องของคุณปั่นป่วน หากจำเป็นต้องปรุงอาหารให้เปิดหน้าต่าง เปิดพัดลมดูดกลิ่น
- วิตามินเสริมที่มีส่วนประกอบของธาตุเหล็กทำให้เกิดการระคายเคืองกระเพาะอาหารได้ ดังนั้น หากคุณแม่ที่เคยมีอาการแพ้ท้องรุนแรงมาก่อนอย่าลืมแจ้งให้คุณหมอทราบด้วย วิตามิน B จะช่วยให้อาการแพ้ท้องดีขึ้น ดังนั้น คุณหมออาจสั่งวิตามิน B complex หรือ B6 ให้
- ไม่ควรใช้ยาโดยหมอไม่ได้สั่งให้โดยเด็ดขาด เพราะยาบางชนิดอาจจะมีผลต่อบุตร
สิ่งที่ไม่ควรทำ
- ไม่ควรที่จะนอนทันทีหลังรับประทานอาหาร
- อย่างดอาหาร
- งดอาหารที่มีรสจัด หรือร้อนจัด