การคลอดก่อนกำหนด (Preterm Labor)
การคลอดก่อนกำหนดคือ การคลอดเมื่ออายุครรภ์น้อยกว่า 37 สัปดาห์ เนื่องจากมดลูกบีบตัว ปากมดลูกเปิดและบางก่อนกำหนดทำให้เกิดการคลอดก่อนกำหนด เด็กที่คลอดออกมาอาจยัง เจริญเติบโตไม่สมบูรณเต็มที่ ความสมบูรณ์ของเด็กจะขึ้นอยู่กับอายุครรภ์เมื่อคลอด เด็กที่คลอดเมื่ออายุครรภ์น้อยกว่า 25 สัปดาห์อาจเสียชีวิต เด็กที่คลอดด้วยอายุครรภ์ น้อยๆแต่รอดชีวิตก็อาจจะมีปัญหาในการหายใจ อาจจำเป็นต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ สำหรับการคลอดก่อนกำหนดหากทราบล่วงหน้าแพทย์สามารถให้ยากระตุ้นให้ปอดสมบูรณ์ก่อนคลอด ซึ่งอาจจะไม่จำเป็นต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ
สาเหตุการคลอดก่อนกำหนด
- การที่ถุงน้ำคร่ำแตกก่อนกำหนด
- ครรภ์แฝด
- ได้รับการผ่าตัดบริเวณช่องท้องในขณะตั้งครรภ์ เช่นไส้ติ่งอักเสบ
- มีน้ำคร่ำปริมาณมากหรือน้อยเกินไป
- มีเลือดออกทางช่องคลอดหลังจากตั้งครรภ์ไปแล้ว 16 สัปดาห์
- มดลูกมีรูปร่างผิดปกติ
- มารดาอายุน้อยกว่า 16 ปี
- รกลอกตัวก่อนกำหนด
- มารดาสูบบุหรี่
- ทำงานที่ต้องออกแรงมากๆ
ปัจจัยเสี่ยงของการคลอดก่อนกำหนด
- การตั้งครรภ์แฝด
- เคยคลอดก่อนกำหนดมาก่อน
- มีความผิดปกติของมดลูกหรือปากมดลูก
ความเสี่ยงที่เกิดจากโรคประจำตัวได้แก่
- มีการติดเชื้อของกระเพาะปัสสาวะหรือของไต
- มีการอักเสบของระบบทางเดินปัสสาวะ ช่องคลอดอักเสบหรือโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
- เป็นโรคติดเชื้อที่ไข้มากกว่า 100 องศาฟาเรนไฮด์ระหว่างการตั้งครรภ์
- ระหว่างการตั้งครรภ์ 20 สัปดาห์มีเลือดออกทางช่องคลอด
- เคยแท้งมาก่อน
- เป็นโรคเรื้อรังเช่นความดันโลหิตสูง โรคไต โรคเบาหวาน
- คุณแม่มีน้ำหนักเกินหรือน้ำหนักตัวน้อยก่อนการตั้งครรภ์
- มีโรคเลือด
พฤติกรรมที่เสี่ยงต่อการคลอดก่อนกำหนด
- การไม่ได้ฝากครรภ์
- การสูบบุหรี่
- การดื่มสุรา
- การใช้ยาเสพติด
- เกิดจากความรุนแรง เช่นการออกกำลังกาย หรือการมีเพศสัมพันธ
- มีความเครียดมาก
- รายได้ต่ำ
- ผู้ที่ต้องทำงานเป็นระยะเวลานานโดยเฉพาะยืนนาน
อาการแสดงของการคลอดก่อนกำหนด ได้แก่
- การมีมูกเลือดออกทางช่องคลอด
- มีอาการเกร็งท้องเป็นๆหายๆ เป็นจังหวะ
- และมีน้ำเดิน
อาการเตือนการคลอดก่อนกำหนด
วิธีการนับการหดตัวของมดลูก
การนับการหดตัวของมดลูกไม่ยาก คุณแม่คลำที่มดลูก หากมดลูกบีบตัวจะรู้สึกว่าแข็ง เมื่อมดลูกคลายตัวจะนุ่ม โดยทั่วไปการบีบตัวจะไม่สม่ำเสมอและไม่รุนแรง หากการบีบตัวสม่ำเสมอเช่นทุก10 นาทีและปวดมากขึ้นแสดงว่าอาจจะเป็นการบีบตัวของมดลูกที่เข้าสู่กระบวนการคลอด ควรจะไปพบแพทย์
หากมีอาการสงสัยว่าจะมีการคลอดก่อนกำหนดควรจะปฏิบัติตัวอย่างไร
- ให้ปัสสาวะ
- ให้นอนตะแคงซ้าย
- ไม่ควรจะนอนหงายเพราะจะทำให้มดลูกบีบตัวมากขึ้น
- ดื่มน้ำให้มากเพราะการขาดน้ำจะทำให้มดลูกบีบตัว
- ติดตามการบีบตัวของมดลูกหากถี่และแรงขึ้นให้พบแพทย์
หากเฝ้าดูอาการหนึ่งชั่วโมงอาการยังไม่ดีขึ้น ให้พบแพทย์
การวินิจฉัยคลอดก่อนกำหนด
สามารถทำได้โดย แพทย์จะทำการซักประวัติ ตรวจครรภ์เพื่อดูการบีบตัวของมดลูก ตรวจอัลตร้าซาวด์ เพื่อตรวจสุขภาพของทารกในครรภ์ ตรวจการบางและขยายตัวของปากมดลูก
แพทย์จะทำการยับยั้งการคลอดก่อนกำหนด หรือจะดำเนินการคลอด ที่ปลอดภัยขึ้นอยู่กับอายุครรภ์ของทารก สุขภาพของมารดาและทารก ศักยภาพของหน่วยบริบาลทารกแรกเกิดอาการวิกฤต (Intensive care nursery) ที่จะสามารถดูแลทารกคลอดก่อนกำหนด
การยับยั้งการคลอดก่อนกำหนด
- พักในโรงพยาบาล และมีการสังเกตการบีบตัวของมดลูกอย่างต่อเนื่อง
- นอนบนเตียงตลอดเวลา เพื่อเป็นการผ่อนคลายกล้ามเนื้อมดลูก และเพิ่มการไหลเวียนของเลือด
- ในน้ำเกลือทางเส้นเลือดดำเพื่อให้ยาทางเส้นเลือดที่จะช่วยลดการบีบตัว ของมดลูก
- ตรวจเลือด ปัสสาวะ และเซลล์จากปากมดลูกเพื่อ ตรวจการติดเชื้อ
- อัลตร้าซาวด์ เพื่อตรวจสภาพของรก สุขภาพของทารก ประเมินอายุของทารก ตรวจความผิดปกติของทารก และท่าของทารก
- ตรวจน้ำคร่ำเพื่อตรวจการติดเชื้อ และประเมินความสมบูรณ์ของปอดของทารก
แพทย์จะไม่ให้ยาเพื่อยับยั้งการคลอดก่อนกำหนดในกรณีที่
- มีเลือดออกมากทางช่องคลอด
- มีความดันโลหิตสูงในระดับรุนแรง
- มีการติดเชื้อในมดลูก
- ทารกมีความผิดปกติ หรือเสียชีวิตแล้ว
- สภาวะอื่นๆที่การตั้งครรภ์ไม่สามารถดำเนินต่อไปได้
การป้องกันการคลอดก่อนกำหนด
หญิงตั้งครรภ์ที่มีความเสี่ยงสูงจะดูแลตนเองอย่างไร เพื่อป้องกัน
- ไปพบแพทย์ทุกสองสัปดาห์หลังจากที่อายุครรภ์ 20 – 24 สัปดาห์เพื่อตรวจครรภ์
- ปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับผลกระทบของงานที่ทำต่อการคลอดก่อนกำหนด
- พักผ่อนให้มากที่สุดเท่าที่จะสามารถทำได้
- หยุดการออกกำลังทุกชนิด ไม่ยกของหนัก ไม่เดินทางไกล
- ต้องทำใจให้สบายปราศจากความเครียด
- หาวิธีที่จะจดจำการเกิดการบีบตัวของมดลูกจากการใช้มือสัมผัส ทำการบันทึกการบีบตัวของมดลูก ความสม่ำเสมอของการบีบตัว และความรุนแรงของการบีบตัว
- ระวังการกระตุ้นที่บริเวณหัวนม เนื่องจากเป็นสาเหตุให้มดลูกบีบตัว
- ระวังเรื่องการมีเพศสัมพันธ์เนื่องจากเป็นสาเหตุให้มดลูกบีบตัว